การเคลื่อนไหวทางการเมือง ของ ภาณุพงศ์ จาดนอก

วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ชูป้ายประเด็นเรื่องการป้องกันโรคระบาด Covid-19 เพื่อประท้วงขับไล่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมต.กระทรวงสาธารณะสุข และ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. พร้อมคณะ ที่บริเวณหน้าโรงแรมดิวารี ดีวา ระยอง จังหวัดระยอง[3] สาเหตุการไม่พอใจมาจากกรณีแขก VIP ของรัฐบาลที่ติดโรค Covid-19 ได้เข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่งซึ่งเป็นสถานที่กักตัวในจังหวัดระยอง แต่ในระหว่างที่กักตัวนั้น ยังมีประวัติเดินทางไปยังห้างสรรพสินค้าในพื้นที่  จังหวัดระยอง จึงทำให้ระบองเป็นพื้นที่โรคระบาดในช่วงนั้น[4] หลังจากถูกจับขึ้นรถ ระหว่างนั้นมีการ Facebook Live ตลอดระยะเวลาที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจนทำให้เป็นที่สนใจของประชาชนเป็นจำนวนมาก

วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ไมค์ และ คณะประชาชนปลดแอกซึ่งยกระดับจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก จัดการชุมนุม "ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียนรีวิวรายงานอ้างตำรวจภาคสนามว่ามีผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 20,000 คน โดยผู้ชุมนุมย้ำข้อเรียกร้อง 3 ข้อเดิม และเพิ่ม 2 จุดยืน ได้แก่ ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติและรัฐประหาร รวมถึง 1 ความฝัน คือ ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ" กลุ่มยังยื่นคำขาดว่า ภายในเดือนกันยายน จะต้องยกเลิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ซึ่งคณะประชาชนปลดแอกมองว่าเป็นกลไกสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้ได้ นอกจากนี้ในวันเดียวกัน มีการชุมนุมสนับสนุนในต่างประเทศ คือ ในกรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ซึ่งมีชาวไต้หวัน ชาวฮ่องกงและชาวสิงคโปร์เข้าร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง มีนักเรียนหลายโรงเรียนร่วมประท้วงด้วย ใช้แฮชแท็ก #โรงเรียนหน้าเขาไม่เอาเผด็จการ มีการกล่าวถึง 4 แสนครั้ง แต่มีโพสต์จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ว่าครูตราหน้านักเรียนว่าโง่และถูกพรรคการเมืองหลอก รวมทั้งมีกรณีปัดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนักเรียนเสียหาย[5]

วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ไมค์ใส่เสื้อกล้ามลายกระทิงแดง พร้อมถือป้ายประท้วงกรณีโครงการถมทะเล 1,000 ไร่ ที่มีข้อความว่า “ถมทะเล 1,000 ไร่ ชาวระยองได้อะไร” ก่อนที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะเดินทางมาถึงบริเวณตลาด 100 เสา ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง

วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดการชุมนุมภายใต้ชื่อ "19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร" แต่เป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกที่เชิญชวนประชาชนให้ปักหลักค้างคืน มีการเจรจาระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยจนสามารถเข้าไปในพื้นที่ได้สำเร็จ ในเวลาบ่าย ผู้ชุมนุมย้ายไปปักหลักที่ท้องสนามหลวง โดยมีเจ้าหน้าที่กั้นรั้วรอบพื้นที่พระบรมมหาราชวัง ในช่วงเย็น มีประมาณการผู้ร่วมชุมนุมระหว่าง 20,000–100,000 คนแล้วแต่แหล่งข้อมูล ฝ่ายตำรวจมีการระดมเจ้าพนักงานกว่า 10,000 นายเข้ามาในพื้นที่ เช้าวันที่ 20 กันยายน มีการทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎรหมุดที่ 2 เพื่อรำลึกถึงหมุดคณะราษฎรเดิมที่หายไปในปี 2560 และผู้ประท้วงเปลี่ยนแผนจากการเคลื่อนไปทำเนียบรัฐบาล เป็นเคลื่อนไปทำเนียบองคมนตรีแทน และยื่นข้อเรียกร้องต่อประธานองคมนตรีผ่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาลก่อนสลายตัว ไม่มีรายงานเหตุการณ์ความรุนแรง โดยพริษฐ์ ชิวารักษ์ ประกาศนัดชุมนุมอีกในวันที่ 14 ตุลาคม หมุดดังกล่าวถูกนำออกจากบริเวณภายใน 24 ชั่วโมง สื่อต่างประเทศบางสำนักระบุว่าการประท้วงครั้งนี้เป็นการประท้วงต่อการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเปิดเผย[5]

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เป็นวันนัดชุมนุมใหญ่ เริ่มมีการชุมนุมตั้งแต่เช้าภายใต้ชื่อ "คณะราษฎร" จำนวนหลายหมื่นคน โดยประกาศจะเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออก ปรากฏว่าทางการสั่งขนผู้ประท้วงตอบโต้โดยใช้พาหนะของราชการ ส่วนกลุ่มนิยมเจ้า เช่น ไทยภักดี และองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน จัดการประท้วงตอบโต้ วันเดียวกัน เกิดเหตุทำร้ายร่างกายผู้ประท้วงโดยฝ่ายตรงข้าม มีการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลแล้วตั้งเต้นท์และเวทีปราศรัยโดยรอบทั้ง 4 ทิศ ทั้งนี้ การประท้วงดังกล่าวตรงกับการเสด็จพระราชดำเนินตามกำหนดการ ซึ่งผ่านบริเวณชุมนุมที่ถนนพิษณุโลกและไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการล่วงหน้า และทั้งที่กำหนดการเดิมว่าจะใช้ถนนราชดำเนิน ไม่มีการขัดขวางขบวนเสด็จ แต่นายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ว่าจะดำเนินคดีอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ขัดขวางขบวนเสด็จฯ ตามอ้าง เช่นเดียวกับกลุ่มฝ่ายขวาและสื่อที่รีบออกมาโจมตีผู้ชุมนุม ด้านอานนท์ นำภากล่าวว่าราชการจงใจจัดขบวนเสด็จฯ ฝ่าบริเวณชุมนุม และอานนท์กะจำนวนผู้เข้าร่วมประท้วงประมาณ 200,000 คนก่อนเวลาเที่ยงคืน[5]

วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ในเวลาเย็น ผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธประมาณ 2,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น จัดแฟลชม็อบที่แยกปทุมวัน โดยเปลี่ยนจากแยกราชประสงค์ที่มีตำรวจประจำอยู่หนาแน่น แต่ไม่ถึงสองชั่วโมงถัดในขณะที่ไมค์กำลังปราศัย ก็ถูกตำรวจสลายการชุมนุม มีรายงานใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง น้ำผสมสารเคมี และแก๊สน้ำตา ด้านหัวหน้าพรรคก้าวไกลพยายามเจรจากับตำรวจขอให้เคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บออกจากที่ชุมนุม แต่ไร้ผล ด้านผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกล่าวว่ามีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 100 คน หลังมีการสลายการชุมนุม นักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยจัดแฟลชม็อบเพื่อประณามการกระทำดังกล่าว ขณะที่วรงค์ เดชกิจวิกรมและอัษฎางค์ ยมนาคหยิบยกคลิปโดยสำนักข่าวเอเอฟพีที่มีผู้ประท้วงใช้คีมตัดเหล็กฟาดใส่ตำรวจในชุดเกราะมาตั้งคำถามว่าผู้ชุมนุมมือเปล่าจริงหรือไม่ สีของน้ำนั้นคาดการณ์ว่าเป็นเมทิลลีนบลู, แอเซอร์เอ, หรือไทโอนีน และใช้ติดตามตัวบุคคลเป็นเวลาหลายวัน ด้านตำรวจไม่สามารถยืนยันประเภทของสารเคมีได้แน่ชัด ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าดูไม่ได้ศึกษาสารเคมีที่จัดซื้อมา[5]

วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ผู้ชุมนุมซึ่งตำรวจประเมินว่ามีจำนวนประมาณ 23,000 คน จัดการชุมนุมหลายจุดในกรุงเทพมหานคร ทั้งที่ระบบขนส่งมวลชนถูกรัฐบาลสั่งปิด ไมค์ได้ปราศัยภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนเวลา 20.00 น. ถูกจับกุมคณะยุติการชุมนุม

วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ไมค์และกลุ่มราษฎรได้จัดชุมนุมที่หน้าเอสซีบีพาร์กพลาซาตามกำหนด โดยได้มีการปิดถนนรัชดาภิเษกฝั่งขาออกตั้งแต่แยกรัชโยธินจนถึงทางแยกต่างระดับรัชวิภา ยกเว้นอุโมงค์ทางลอด โดยในการชุมนุมนี้พริษฐ์ปราศรัยว่า การเข้ามาทำธุรกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์มีความไม่สง่างาม และต้องทวงคืนกลับมาให้เป็นสมบัติของชาติ และมีการเสนอเพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อยกเลิก พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้แยกทรัพย์สินส่วนพระองค์กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้ขึ้นปราศรัยด้วยว่า ที่รัฐบาลกลับมาใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถือเป็นการขัดพระบรมราชโองการ และจากสาเหตุนี้ประยุทธ์ควรลาออก ทั้งนี้ผู้ชุมนุมได้ประกาศจัดการชุมนุมต่อเนื่องยาว 5 วัน ก่อนหน้านี้ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่าไม่มีความคิดที่จะใช้กฎอัยการศึก จากนั้นในช่วงดึกเกิดเสียงระเบิดและเสียงปืนดังขึ้นในบริเวณที่ชุมนุม มีการ์ดผู้ชุมนุมถูกยิงได้รับบาดเจ็บและนำตัวส่งโรงพยาบาล 2 คน ด้านผู้ชุมนุมจับตัวผู้ต้องสงสัยไว้ได้ ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าตำรวจเข้าระงับเหตุล่าช้า วันรุ่งขึ้น ตำรวจแถลงว่า เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นเหตุวิวาท โดยอ้างคลิปวิดีโอที่เข้าใจว่าเป็นการ์ดผู้ชุมนุมสนทนากัน และยังไม่มีการควบคุมตัวผู้ใด ส่วนประยุทธ์รีบออกแถลงการณ์ว่ารัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลอ้างว่า เป็นการยิงกันเองเพื่อสร้างสถานการณ์[5]

วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ไมค์และกลุ่มราษฎรจัดกิจกรรม "ซ้อมต้านรัฐประหาร" ที่ห้าแยกลาดพร้าว ส่วนตำรวจปิดเส้นทางจราจรเข้าออกจากแยกดังกล่าว โดยภาณุพงศ์ได้ขึ้นเวทีเพื่อปราศรัยวิธีการต่อต้านรัฐประหาร โดยนำรถยนต์ไปจอดทิ้งไว้บนถนนสายต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อขัดขวางการเคลื่อนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหาร รวมทั้งรวมตัวกันขัดขืนคำสั่งของคณะรัฐประหาร[5]